Please use this identifier to cite or link to this item: https://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/1801
Title: มาตรการทางกฎหมายในการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน
Authors: ไชยยศ เหมะรัชตะ
Email: Chaiyos.H@Chula.ac.th
Other author: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. ภาควิชากฎหมายวิธีพิจารณาและธรรมนูญศาล
Subjects: การฟอกเงิน--กฎหมายและระเบียบข้อบังคับ--ไทย
Issue Date: 2540
Publisher: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
Abstract: ความสำคัญของปัญหา ในปัจจุบัน การประกอบอาชญากรรม ไม่ว่าโดยการกระทำอย่างเอกเทศหรือกระทำในลักษณะสมคบกันเป็นเครือข่ายในรูปแบบขององค์กรนั้น ไม่เพิ่มขึ้นจนเป็นปัญหาใหญ่และซับซ้อน ซึ่งทำให้ยากลำบากต่อการป้องกันและปราบปราม อันก่อให้เกิดผลกระทบกระเทือนต่อความสงบสุขของทุกประเทศในยุคโลกาภิวัฒน์นี้ ดังจะเห็นได้จากปัญหาอันมีที่มาจากการค้ายาเสพติดซึงนับวันจะรุนแรงและขยายตัวจนกลายเป็นปัญหาระดับโลก ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญประการหนึ่งของการดำรงอยู่และความเจริญเติบโตของเหล่าอาชญากรหรือองค์กรอาชญากรรม ได้แก่ การมีเงินทุนหมุนเวียนเพื่อใช้สนับสนุนในการที่จะปกปิดการกระทำความผิดและเพื่อการขยายขอบเขตอิทธิพลของการประกอบอาชญากรรมให้มั่นคงและกว้างขวางขึ้นจนกลายเป็นอาชญากรรมข้ามชาติ อันทำให้ยากแก่การปราบปรามจากบรรดาเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยเงินทุนเหล่านั้นคือเงินที่ได้มาจากการกระทำความผิดนั่นเอง แต่เงินดังกล่าวย่อมจะต้องถูกเพ่งเล็งจากทางเจ้าหน้าที่ของรัฐ ดังนั้น บรรดาอาชญากรจึงต้องหาวิธีในการปกปิดซ่อนเร้นเงินจำนวนดังกล่าวนั้น ในขณะเดียวกันหากสามารถนำเงินนั้นมาใช้ดำเนินการหาผลตอบแทนให้มากขึ้นด้วยวิธีการทางธุรกิจ ก็ย่อมจะเป็นประโยชน์อย่างมหาศาลแก่เหล่าอาชญากร การฟอกเงินซึ่งเป็นการดำเนินการด้วยวิธีต่างๆ ให้เงินหรือทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิดใดๆ เปลี่ยนเป็นเงินหรือทรัพย์สินซึ่งบุคคลทั่วไปหลงเชื่อว่าเป็นเงินหรือทรัพย์สินที่ได้มาโดยชอบด้วยกฎหมายนั้น ได้กลายเป็นรูปแบบที่แพร่หลายมากที่สุดของอาชญากรในการใช้เป็นเครื่องมือเพื่อปกปิดและหาผลประโยชน์จากการกระทำความผิด นอกจากนี้ การฟอกเงินยังก่อให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เนื่องจากเงินที่นำมาฟอกเป็นเงินนอกระบบอันไม่ได้เกิดจากการผลผลิตทางเศรษฐกิจ และเงินดังกล่าวถูกนำไปใช้ในการให้สินบนแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐและนักการเมือง ตลอดจนนำมาใช้เพื่อการขยายเครือข่ายของการประกอบอาชญากรรมจนกลายเป็นอาชญากรรมข้ามชาติที่ทรงอิทธิพล ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาอันเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ในปัจจุบัน แม้ว่าประเทศไทยได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน แต่ก็ยังไม่มีการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินไว้โดยเฉพาะ และบทบัญญัติของกฎหมายซึ่งมีอยู่ยังไม่สามารถครอบคลุมในการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินจากอาชญากรรมประเภทต่างๆ อย่างสมบูรณ์ ดังนั้น จึงได้มีการเสนอแนวความคิดอันเกี่ยวกับการร่างกฎหมายป้องกันและปรามปราบการฟอกเงิน ซึ่งมีหลักการต่างๆ ตามมาตรฐานสากล เพื่อให้ประเทศไทยมีกฎหมายป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินใช้บังคับในอนาคต สำหรับสกัดกั้นการกระทำใดๆ อันเป็นการฟอกเงิน วัตถุประสงค์ของการวิจัย 1. เพื่อให้ทราบลักษณะและที่มาของการกระทำใดๆ อันเป็นการฟอกเงิน 2. เพื่อศึกษาหลักเกณฑ์รายละเอียดของกฎหมายว่าด้วยการฟอกเงินของประเทศต่างๆ รวมทั้งแนวความคิดและทฤษฎีว่าด้วยกฎหมายฟอกเงิน 3. เพื่อวิเคราะห์หลักการและโครงสร้างตลอดจนผลกระทบในด้านต่างๆ ของร่างกฎหมายฟอกเงินซึ่งจะบังคับใช้ในประเทศไทยในอนาคต 4. เพื่อพิจารณามาตรฐาน และข้อเสนอแนะในการกำหนดหลักเกณฑ์ที่เหมาะสมแก่การบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการฟอกเงินในประเทศไทย ขอบเขตของการวิจัย ศึกษาและวิเคราะห์หลักเกณฑ์ของกฎหมายว่าด้วยการฟอกเงินของต่างประเทศ และหลักกฎหมายต่างๆ อันเกี่ยวข้องโดยทางอ้อมกับการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินซึ่งได้ใช้บังคับในประเทศไทย ตลอดจนร่างกฎหมายว่าด้วยการฟอกเงินซึ่งได้ส่งหน่วยงานต่างๆ ของรัฐทำการพิจารณาให้ความเห็นในขณะนี้ เพื่อประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีต่อไป วิธีการวิจัย ศึกษาวิจัยเอกสาร โดยทำการค้นคว้าและการวิเคราะห์กฎหมายที่เกี่ยวข้องของต่างประเทศและประเทศไทย รวมทั้งแนวความคิดเห็นของหน่วยงานต่างๆ ซึ่งเกี่ยวกับร่างกฎหมายฟอกเงินจากตำรา บทความ และเอกสารการสัมมนาทางวิชาการอื่นๆ ในเรื่องการฟอกเงิน ผลการวิจัย ในปัจจุบัน กฎหมายซึ่งมีหลักเกณฑ์บางส่วนเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินโดยทางอ้อมในประเทศไทย ได้แก่ พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำผิด ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 และพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ พ.ศ. 2518 รวมทั้งประมวลกฎหมายอาญา แต่หลักการภายใต้กฎหมายเหล่านั้นจำกัดไว้เฉพาะเกี่ยวกับการริบทรัพย์ที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิด โดยจะกระทำการขอริบทรัพย์ได้ต่อเมื่อมีผู้ต้องหาว่ากระทำความผิดแล้วเท่านั้น ส่วนหลักการตามกฎหมายว่าด้วยการฟอกเงินนั้น การตรวจสอบทรัพย์สินย่อมทำได้โดยไม่ต้องมีผู้ต้องหาในความผิดฐานใดก่อนเลย เพียงแต่มีการรายงานธุรกรรมที่มีเหตุอันควรสงสัย ก็สามารถทำการตรวจสอบได้แล้ว หากผู้ทำธุรกรรมไม่สามารถชี้แจงแหล่งที่มาของทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับธุรกรรมดังกล่าว ย่อมจะมีความผิดเกี่ยวกับการฟอกเงิน และสามารถร้องขอต่อศาลให้สั่งริบทรัพย์สินนั้นได้ นอกจากนี้ หากสบสวนได้ข้อเท็จจริงเพิ่มเติมว่าทรัพย์สินที่นำมาทำธุรกรรมนั้นเกียวข้องกับการกระทำความผิดใดๆ แล้ว ก็จะต้องดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป ด้วยเหตุนี้ จึงสมควรที่จะต้องมีการบังคับใช้กฎหมายที่มีหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการปกปิดหรือเปลี่ยนสภาพทรัพย์สินที่เกี่ยวพันกับการกระทำความผิดทุกลักษณะไว้โดยตรงเพื่อสกัดกั้นการฟอกเงิน โดยจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการปราบปรามอาชญากรรมในประเทศไทยและก่อให้เกิดผลดีหลายประการต่อประเทศไทย ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมืองและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ข้อเสนอแนะ ผลกจากการวิจัยดังกล่าว จึงมีข้อเสนอแนะบางประการซึ่งเกี่ยวกับหลักเกณฑ์และการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการฟอกเงินอย่างมีประสิทธิภาพในประเทศไทย ดังนี้ 1. กำหนดบทนิยายของความผิดมูลฐานให้มีข้อความในลักษณะกว้างๆ เพื่อเปิดช่องให้สามารถบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมความหมายไปยังการกระทำใดๆ ซึ่งเกี่ยวกับความผิดประเภทอื่น เช่น การฟอกเงินที่มีมาจากการกระทำความผิดเกี่ยวกับการค้าประเวณี และการฟอกเงินที่มีที่มาจากการฉ้อโกงประชาชน เป็นต้น โดยอาจกำหนดให้แก้ไขเพิ่มเติมได้ในกฎกระทรวงเพื่อความสะดวกรวดเร็วทันต่อสถานการณ์ เพราะไม่ต้องผ่านขั้นตอนดำเนินการอันมากมายในการเสนอกฎหมาย อันทำให้สามารถขยายไปสู่การตรวจสอบทรัพย์สินที่เกี่ยวพันกับการกระทำความผิดอื่นๆ ด้วย 2. ควรกำหนดสถานะของสำนักงานบริหารข้อมูลว่าเป็นองค์กรซึ่งสังกัดอยู่กับสำนักนายกรัฐมนตรีเพื่อประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน และทำให้สามารถถูกตรวจสอบการทำงานได้จากรัฐสภาตามหลักการว่าด้วยการคานอำนาจระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร เนื่องจากสำนักงานบริหารข้อมูลเป็นหน่วยงานซึ่งได้รับอำนาจเพื่อการตรวจสอบและรวบรวมหลักฐานใดๆตามกฎหมายฟอกเงินเป็นอย่างมาก 3. ควรให้มีการออกกฎระเบียบเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ของสำนักงานบริหารข้อมูลอย่างเข้มงวด และกำหนดให้มีการตรวจสอบการปฏิบัติงานหรือคำสั่งใดๆ ของสำนักงานบริหารข้อมูลได้โดยตรงจากรัฐสภา เพื่อให้เป็นหลักประกันในการควบคุมการใช้อำนาจของสำนักงานบริหารข้อมูลตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายฟอกเงิน 4. ควรมีการกำหนดมูลค่าในการทำธุรกรรม และมูลค่าของอสังหาริมทรัพย์ในการทำธุรกรรมอย่างสมเหตุสมผลและสามารถยืดหยุ่นเปลี่ยนแปลงได้ตามสภาวะเศรษฐกิจ เพื่อไม่ให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชนผู้เกี่ยวข้อง และไม่เป็นการเพิ่มภาระทางด้านต่างๆ ในการที่จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายจากเกินไปแก่สถาบันการเงินและสำนักงานที่ดิน อันอาจก่อให้เกิดผลกระทบใดๆ ทางด้านเศรษฐกิจของประเทศ
URI: http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/1801
Type: Technical Report
Appears in Collections:Law - Research Reports

Files in This Item:
File Description SizeFormat 
Chaiyos.pdf15.28 MBAdobe PDFView/Open


Items in DSpace are protected by copyright, with all rights reserved, unless otherwise indicated.